ภูมิปัญญาในพิธีไหว้ตายายโนราในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง

Number of View: 10258

พิธีกรรมการบูชาบรรพบุรุษ

มีผู้กล่าวถึง เรื่องการจัดพิธีกรรมบูชาบรรพบุรุษ ไว้หลายท่าน ได้แก่ ชลทิตย์ เอี่ยมสำอางและวิศนี ศิลตระกูล (2533 : 215-229) จัดแบ่งประเภทของภูมิปัญญาว่า เป็นภูมิปัญญาจาก
ประสบการณ์การอยู่ร่วมกัน ภูมิปัญญาแบบนี้มีพฤติกรรมตามแบบแผนของสังคม มีกฏเกณฑ์ที่บอกว่าอย่างไรดี ไม่ดี มีระบบการอยู่ร่วมกันอย่างสันติเป็นหลัก มีความเข้าใจในอนิจจังของชีวิตเป็นแก่นสูงสุด รูปธรรมพึงแสดงออกมา คือ ความเชื่อเรื่อง “บรรพบุรุษ” และ เป็นการใช้บารมีของผู้ล่วงลับไปแล้ว และเป็นที่เคารพนับถือกันมา สามารถนำมาลดความขัดแย้งและความมีอคติของลูกหลานได้ ส่วนประมวญ ดิคคินสัน (2539 : 143-149) อธิบายว่าการประกอบพิธีกรรม (Ritual) เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ที่เกิดจากความเชื่อ (Myth) ของคนรุ่นก่อนให้แก่เพื่อนมนุษย์และคนรุ่นต่อมา และ พิธีกรรมที่ผูกพันมนุษย์เข้าด้วยกันอย่างดีที่สุด คือการบูชาบรรพบุรุษ ความตระหนักว่ามีบรรพบุรุษร่วมกัน ไหว้บรรพบุรุษเดียวกัน ทำให้มีความรู้สึกเป็น “พวกเรา” และ เอกวิทย์ ณ ถลาง (2544 : 156) เสริมว่า เป็นพิธีความเชื่อที่มนุษย์ มีต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เป็นพิธีกรรมที่ “ตอกย้ำศรัทธา” เชื่อว่าการไหว้ทำให้เป็นสิริมงคลแก่ตัวและ นำความสวัสดีมีชัยมาให้ ในภาคใต้ของประเทศไทย มีการประกอบพิธีไหว้ตายาย ของผู้ที่มีบรรพบุรุษเป็นมโนราห์ผสม ซึ่งประพนธ์ เรืองณรงค์ (2540 : 117) อธิบายไว้ว่า มโนราห์ผสม เป็นศิลปการแสดงประเภท “มโนราห์” ของในภาคใต้ตอนล่าง คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ลักษณะพิเศษ คือใช้ภาษาเหน่อๆ คล้ายภาคเหนือ และสามารถแสดงร่วม (ผสม) กับมะโย่ง (ศิลปการแสดงของมุสลิมคล้ายมโนราห์) ได้ชาวบ้านเรียกว่า โนราเจ๊ะเห หรือ โนราควน ตามสำเนียงของมโนราห์

พิธีไหว้ตายายโนราผสม : ศึกษากรณีมโนราห์แคล้ว รัตนปรี

พิธีไหว้ตายายโนราได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี พิธีกรรมหลักจะคล้ายๆ กันทุกแห่ง แตกต่างที่รายละเอียด อาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามประสบการณ์และวิวัฒนาการของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมยึดถือปฏิบัติมา
การกำหนดวันไหว้ตายาย อาจใช้วันครู (พฤหัสบดี) หรือ วันอาทิตย์เพื่อความสะดวกในกรณีที่ลูกหลานเป็นข้าราชการ เช่น กรณีนี้ เป็นต้น
เมื่อถึงวันฤกษ์ดี คือวันที่กำหนดให้มีเวลามาพร้อมเพรียงกันได้แล้ว ก็เริ่มพิธีด้วยการจัดสถานที่ซึ่งมีบริเวณพิธี เป็นที่กว้างพอสมควรจัดที่ไหว้ เตรียมเครื่องไหว้ เครื่องไหว้ที่เป็นอาหารนั้นให้นำไปถวายพระที่วัดก่อนไหว้ตายาย แสดงถึงการเคารพต่อสถาบันศาสนาของบรรพบุรุษ ก่อนทำการสิ่งใด ต้องนึกถึงพระก่อนเสมอ

ขั้นตอนกิจกรรมพิธีไหว้ตายาย
1. การจัดหิ้งบูชา สาด(เสื่อ)หมอน และเพดาน
จัดให้หิ้งพระพุทธรูปอยู่สูงที่สุดทางซ้ายมือ ต่ำลงมาทางขวาเป็นรูปตายาย ด้านล่างมี
สาด(เสื่อ)หมอน คือเสื่อและหมอนที่ใช้ทำพิธี ใช้หมอนวางบนเสื่อแล้วม้วนเสื่อข้างหนึ่งคลุมหมอนไว้ ใช้ผ้าขาวปูทับ วางทั้งหมดนี้วางบนเสื่ออีกทีหนึ่ง เป็นการเรียงลำดับความสำคัญ ว่า พระพุทธ สำคัญที่สุด ถัดมาเป็นตายาย และ ผู้ร่วมพิธีตามลำดับ เหนือขึ้นไปตรงกับสาดหมอน มีเพดาน (ใช้ผ้าขาวขึง 4 มุมคล้ายกางมุ้ง) ข้างบนวางหมากพลู 3 คำ ข้าวตอก (ข้าวคั่ว) และดอกไม้
2. การจัดหัวหมอน
บริเวณหมอน เรียกว่า “หัวหมอน” วางหัวพราน (หน้ากากที่ใช้แสดงมโนราห์ ของผู้ที่
แสดงเป็นพราน) วางพิงหมอนทางขวามือ ถัดมาทางซ้ายวาง เทริด ชิดหมอน และซ้ายมือสุดวางบายศรี บนหมอนวางเล็บและกำไลมโนราห์แบ่งเป็น 3 กอง แต่ละกองวางหมากพลูและดอกไม้ด้วย
วางพระขรรค์ไม้บนหมอน เพื่อรำลึกถึงคุณค่าของศิลป อุปกรณ์ การแสดงมโนราห์
3. จัดถาดอาหาร
จัดถาดอาหาร การเรียกชื่อถาด เรียกตามจำนวนถ้วยหรือกระทง ที่ใส่อาหาร นับหน่วยเป็น “ที่” และแต่ละถาดต้องมีหมากพลู น้ำ เหล้า แป้งจันน้ำมันหอม (แป้งผัดหน้าใส่น้ำมันพืช) มีถาด12 ไหว้เทวดา ถาด 7 ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ อย่างละถาดและถาด 9 จำนวน 3 ถาด ไหว้ตายาย จำนวนอาหารแต่ละถาด แสดงลำดับความสำคัญของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งแต่ละถาดประกอบด้วยอาหารส่วนน้อย ในถ้วยเล็กๆ ที่เป็นตัวแทนของอาหารทั้งหมด เหมือนการเลือกกลุ่มตัวอย่างของประชากร
ดังนี้
– ข้าวเหนียวเหลือง (หุงด้วยน้ำขมิ้น) ข้าวเหนียวขาว และข้าวสุก 1 ที่
– แกง 1 ที่
– ปลามีหัวมีหาง 1 ที่
– ขนมโค 1 ที่
– ขนมหรือผลไม้อย่างละที่ใส่จนครบ
4. ผู้ทำพิธีว่าคาถากันตัว
เนื่องจากเป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ จึงมีกลวิธีแก้หรือป้องกันตัว จะช่วยลด
อาการกลัวและ การป้องกันจังไร (เสนียดจัญไร)
5. พิธีการสวดไหว้ตายาย
– สวดบทชุมนุมเทวดา เพื่ออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิทั้งหลายมาร่วมเป็นพยาน และให้ความสำคัญต่อสิ่งเหนือธรรมชาติตามความเชื่อทั้งหมด
– สวดถวายพรพระรัตนไตร (สวดอิติปิโส) ก่อนสวดไหว้ตายาย แสดงความสำคัญของศาสนาที่มากกว่าความเชื่อ
– การสวดไหว้ตายาย มีส่วนที่เป็นบทสวดและส่วนที่เชิญตายายทั้งที่เอ่ยชื่อหรือที่ลูก
หลานจำไม่ได้ทั้งหมด ในโองการไหว้ครู มีคำสวดสวดบูชาพระคุณบิดามารดาด้วย ซึ่งการสวดนี้ เอกวิทย์ ณ ถลาง (2544 : 158) กล่าวว่าทั้งผู้สวดและผู้ฟังจะซึมซับเอาคุณค่าสาระไว้ การทำซ้ำเป็นการตอกย้ำให้ยึดมั่น คล้อยตาม เห็นว่า บรรพบุรุษมีความสำคัญต่อเราอย่างไร
6. การเซ่นตายาย
การเซ่น เป็นการ ให้ตายายได้รับเครื่องเซ่น โดย ใช้ใบตองฉีกเป็นเส้น แล้วจุ่มในถ้วยน้ำ ถ้วยเหล้า แล้วประพรม บริเวณเหนือถาดนั้นๆ เริ่มจากถาด 12 เพื่อบูชาเทวดาก่อน ถาดตายาย
7. การบนตายาย
การบน เป็น สัญญาที่ไม่มีการลงชื่อ เซ็นสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างที่ทำกัน แต่เขียน
ไว้ในใจ ไม่มีการบิดพริ้ว ผู้ที่ไม่รักษาสัจจะจะไม่มีความสุข และทรมานใจมาก บางคนไม่แก้บน อาจมีอาการป่วยทางร่างกายได้ การบนตายาย เมื่อผู้บนกล่าวถึงความต้องการ หรือความทุกข์กาย ทุกข์ใจ ญาติพี่น้องที่ได้ยินจะได้รับทราบ มีความเห็นอกเห็นใจ แบ่งปันความรู้สึกซึ่งกันและกัน
8. การแก้บนตายาย
การแก้บน คือการทำตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อตายาย (การบน) แก้บนโดยการพูดเรื่องที่ตนดีใจ ที่ตนทำได้สำเร็จแล้ว ญาติพี่น้องที่ได้ยินร่วมยินดีไปด้วย และเครื่องแก้บนประเภทเครื่องเซ่น ยิ่งแก้บนตายายมากเท่าไร นำอาหารมาถวายมากขึ้น เมื่อเสร็จพิธี อาหารที่นำมานั้นก็จะได้เลี้ยงดูกันมากขึ้น และการชักระแปะ คือการนำใบมะพร้าวมาสานเป็นเงื่อน แล้วให้ผู้ทำพิธีใช้พระขรรค์ทาบเปรียบเสมือน “การตัด” แล้วทำมาทาบที่หน้าผาก ท่องคาถา เสร็จแล้วให้คนแก้บนดึงเงื่อนออกพร้อมกับผู้ร่วมพิธีร่วมกันกล่าวคำว่า “ปล่อย” หมายถึงหลุดพ้นจากสัญญาแล้ว การชักระแปะ
เป็นอุบายที่ให้ผู้มาแก้บนได้คลายใบมะพร้าวสานออก ทำให้โล่งใจ เหมือนได้คลายความผูกมัดออกไป
9. การเซ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกพิธี
คือการ นำเครื่องเซ่นไปถวายการเซ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่นอกพิธี เช่น ศาลพระภูมิ โดยแบ่ง
เครื่องเซ่นจากถาด 7 ไปวาง จุด ธูป เทียนกล่าวไหว้
10. การพบปะกินเลี้ยง
หลังพิธีกรรมมีการกินเลี้ยงเพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างญาติพี่น้อง ดังที่ ชลทิตย์ เอี่ยม
สำอางและวิศนี ศิลตระกูล (2533 : 235) กล่าวว่าญาติพี่น้องจะมาพร้อมหน้ากัน ไม่ว่าจะไปอยู่ไหน
เรื่องราวต่างๆ ได้ถูกนำมาเล่าไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ รับประทานอาหารร่วมกันร่วมกัน ผู้ใหญ่จะได้ถือโอกาสนี้อบรม ตักเตือนและให้พรลูกหลาน
บรรณานุกรม

แคล้ว รัตนปรี. 2545. บทสัมภาษณ์เรื่องพิธีไหว้ตายาย
ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และพรพิไล เลิศวิชา. 2537. วัฒนธรรมหมู่บ้านไทย. กรุงเทพ : สร้งสรรค์
ชลทิตย์ เอี่ยมสำอาง และวิศนี ศิลตระกูล. 2533. “หน่วยที่ 6 ภูมิปัญญาชาวบ้าน เทคโนโลยี
พื้นบ้านและแหล่งวิทยากรในชุมชน. หน่วยที่ 1-8. มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
นนทบุรี : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์. 2544. ชีวิตชาวใต้ประเพณีและวัฒนธรรม. กรุงเทพ : ชมรมเด็ก
ประมวญ ดิคคินสัน. 2539. คติชนชาวบ้าน. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ : บริษัท ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด
พูนพิศมัย ดิศกุล. มปป. ประเพณีพิธีไทย. กรุงเทพ : บรรณกิจ
เสรี พงศ์พิศ. 2531. ทิศทางหมู่บ้านไทย. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์หมู่บ้าน
————–. 2536. ภูมิปัญญาชาวบ้านกับการพัฒนาชนบท เล่ม 1-2. กรุงเทพ : บริษัทอมรินทร์
พริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด
เอกวิทย์ ณ ถลาง. 2544. ภูมิปัญญาทักษิณ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพ : อมรินทร์
ที่มา : Expert2you.com http://www.expert2you.com/view_article.php?cat_sel=120300&art_id=706

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Time limit is exhausted. Please reload CAPTCHA.