อาจารย์นักพัฒนา

Number of View: 3214

มีอาจารย์อยู่ท่านนึงเท่าที่จำได้ท่านไม่เคยได้สอนผมในห้องเรียน
เพราะว่าท่านเป็นอาจารย์ใหญ่ แต่ท่านสอนผมนอกห้องเรียน
แล้วก็มีวิธีปฏิบัติต่อคนอื่นที่ผมประทับใจท่านมาก

อาจารย์เคยทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประปาหรือน้ำบาดาล
อะไรสักอย่างผมจำไม่ได้ แต่ท่านมีความเป็นนักพัฒนาในตัวมาก

โรงเรียน ม.ต้นที่ผมไปเรียนนั้นเป็นโรงเรียนประจำอำเภอแต่ก็ถือ
เป็นโรงเรียนเล็ก เพราะสอนแค่ ม.ต้น(ปัจจุบันสอนถึง ม.ปลายแล้ว)
ซึ่งก็ยังมีโรงเรียนที่ใหญ่กว่าอีก ทำให้งบประมาณต่างๆของโรงเรียน
เล็กได้น้อย โรงเรียนเล็กนี้เคยอยู่ในตัวอำเภอมาก่อน พอช่วงหลัง
มีพื้นที่คับแคบ จึงได้ย้ายออกมาอยู่นอกตัวอำเภอโดยอาศัยป่าช้า
เก่า ที่ทำการล้างป่าช้าแล้วปรับพื้นที่ใหม่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนใหม่

เพราะฉะนั้นอะไรต่างๆของโรงเรียนนี้จึงยังไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่
ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียน น้ำกินน้ำใช้ ถนนหนทาง อุปกรณ์การเรียน
การสอนต่างๆ จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องมากๆที่เลือกอาจารย์ใหญ่
ท่านนี้ให้มาดูโรงเรียนนี้ ตั้งแต่ ม.1 จนถึง ม.3 ที่ผมใช้ชีวิตในโรงเรียน
นี้เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆมากมาย ซึ่งถือว่ารวดเร็วพอสมควร

ครั้งแรกที่เข้ามาเรียน มีอาคารถาวร 4 ชั้นแค่ตึกเดียวนอกนั้นก็เป็น
อาคารเรียนชั่วคราวชั้นเดียวอีก 3 หลัง พออยู่ประมาณ ม.2 อาคาร
เรียนถาวรหลังใหม่ 2 ชั้นก็เสร็จ ทำให้มีห้องสมุดใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม
ซึ่งเมื่อก่อนอยู่อาคารชั่วคราวห้องเล็กๆ แล้วก็มีห้องโสตทัศนศึกษา
ที่ใหญ่ขึ้น

ตอนแรกที่เข้ามาเรียนนั้นถนนด้านที่เข้ามาภายในโรงเรียนนั้นยังเป็น
ถนนลูกรังดินแดงๆอยู่เลย พอถึงหน้าฝนก็ลำบากกันน่าดู ก็มีการ
พัฒนาเป็นถนนคอนกรีตภายในระยะเวลาไม่นาน แถมท่านอาจารย์
ใหญ่ยังได้ให้ทั้งนักการภารโรง และนักเรียนผู้ชายหลายๆชั้น
ไปช่วยกันขนปูนคอนกรีตของตึกเก่าที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนที่เดิม
ที่ทุบแล้วภายในตัวอำเภอ แล้วนำมาทำฟุตบาธผสมคอนกรีต
เพื่อให้ใช้งบประมาณน้อยลงระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร
เพื่อให้นักเรียนได้รับความสะดวกในการเดินเข้ามาโรงเรียน

ช่วงแรกๆโรงเรียนมีปัญหาเรื่องน้ำดื่มๆ ต่อมาท่านอาจารย์ใหญ่
ก็เลยทำการขุดดินแล้วทำเป็นที่เก็บน้ำฝนขนาดใหญ่
โดยใช้แรงงานทั้งจากเด็กนักเรียนผู้ชายและ นักการภารโรง
แล้วก็ทำการเดินระบบน้ำดื่มเป็นจุดๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
กดดื่มน้ำตามจุดต่างๆได้อย่างสบาย

ที่โรงเรียนนั้นมีรถที่เป็นรถใช้ภายในโรงเรียนเป็นรถกระบะอยู่ 1 คันซึ่งก็
ใช้ในภาระกิจเกือบทุกอย่างทั้งขนคน ขนของจิปาถะ เพื่อให้ได้เกิด
ประโยชน์สูงสุด และประหยัดงบประมาณท่านก็สร้างรถพ่วงแบบไม้
มาอีกหนึ่งคัน มีอยู่หลายหนที่ผมได้มีโอกาสได้เป็นผู้โดยสาร
บรรทุกไปกับรถพ่วงคันนั้น ไม่ว่าจะไปแข่งฟุตบอลภายในอำเภอ
หรือไปแข่งขันทางด้านวิชาการกับต่างอำเภอ ก็ได้อาศัยไปกับรถพ่วงคันนั้น
เวลาเข้าโค้งแต่ละทีก็หวาดเสียวน่าดู

เมื่อก่อนนั้นที่โรงเรียนยังไม่มีแสตนด์เชียร์ หรืออัธจรรย์ อาจารย์ก็
ไปซื้อไม้มาแล้วก็ให้นักการภารโรงต่อเอง ซึ่งเมื่อต่อแสตนด์เสร็จ
เป็นรูปร่างขึ้นมา ก็แข็งแรงสูงใหญ่น่าขึ้นไปเชียร์ไม่เบา แถมเวลาขนย้าย
ก็สะดวก เพราะสามารถถอดประกอบได้ ไม่เหมือนแบบเหล็ก ซึ่งถึงแม้
จะเป็นขนาดเล็กก็ยังขนย้ายลำบาก ซึ่งถ้าเป็นขนาดแสตนด์เชียร์แบบ
ไม้ที่ต่อขึ้นเองก็ไม่ต้องพูดถึง ว่าจะขนย้ายได้

พอถึงช่วงเวลาแข่งกีฬาของโรงเรียนต่างๆภายในอำเภอ ซึ่งมีประมาณ
5 โรงเรียน โรงเรียนของเราก็จะโดดเด่นเป็นพิเศษเพราะสามารถ
แปลอักษรบนแสตนด์เชียร์ที่ใหญ่ได้อย่างสวยงามกว่าใครๆ

นอกจากนี้อาจารย์ยังได้พัฒนาโรงเรียนในหลายๆ จุดที่ยังขาดแคลน
ให้เพียงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำห้องส้วม อาคารฝึกงาน
หอประชุมใหม่

ช่วงที่ยังเรียนอยู่ที่นั้น ผมมีโอกาสได้เข้าไปที่โรงเรียนในวันหยุด
ท่านอาจารย์ ท่านก็ยังไม่หยุดทำงาน พอท่านเจอผมท่านยังวาน
ให้ผมช่วยงานขนต้นไม้ ปลูกต้นไม้ให้

ผมได้มีโอกาสฟังคำสอนของท่านในบางครั้งที่ท่านมาพูดในหน้าเสาธง
หรือไม่ก็ในงานบางอย่างของโรงเรียน

คำสอนของท่านที่ก้องอยู่ในหัวผมตลอดก็คือ ท่านบอกว่า
คนเรานั้นถ้าไปอยู่ที่ไหน ก็ควรต้องทำให้ที่นั้นเจริญ ทำให้ที่นั่น
ดีกว่าเดิม

อีกอันนึงที่จำได้แม่นแล้วก็นำมาใช้ประจำก็คือวิธีการจำชื่อคนให้ได้ไว
ท่านบอกว่าให้ นึกชื่อและหน้าของคนที่เราได้ได้รู้จักใหม่ว่า เหมือนกับชื่อ
คนรู้จักเก่าคนไหน เช่น มีคนรู้จักใหม่ ชื่อ ดำ ก็ให้นึกถึงชื่อและหน้า คนรู้จักเก่า
ที่ชื่อ ดำเหมือนกัน ซึ่งเอาไปใช้แล้วได้ผลจริงๆ

อีกอันนึงที่จำแม่นก็คือ มีครั้งนึงที่ผมมีโอกาสได้ทำโครงการไปให้ท่านเซ็น
ในฐานะประธานนักเรียน ท่านแนะนำถึงการใช้เงินที่ประหยัดในโครงการ
และบอกว่า คำว่าหมายกำหนดการนั้นใช้ได้เฉพาะกับกษัตริย์เท่านั้น
ซึ่งทำให้ผมจำคำนี้ได้ดีมากเลย

เวลาอาจารย์เจอหน้าผมข้างนอกโรงเรียนขับรถสวนทางกัน อาจารย์ก็จะ
พยักหน้าให้ แม้กระทั้งครั้งนึงผมได้จบจากโรงเรียนนั้นแล้ว แล้วได้มาอยู่
โรงเรียนใหม่ แล้วอาจารย์ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนใหม่ที่ผมเรียน
อยู่โดยไปเป็นคณะ แล้วได้ผ่านไปพอดี อาจารย์ก็ยังยิ้มและพยักหน้าให้

วันสุดท้ายที่ผมจบการศึกษาจากที่นี่ ผมต้องอดไปรับเงินจากร้านสหกรณ์โรงเรียน
เพราะเขาปิดก่อน และอดไปดูหนังกับเพื่อนๆ ที่จะต้องจากกันแล้ว เพราะ
อาจารย์ใหญ่ท่านให้ผมไปกวาดอาคารหลังใหม่ทั้งหลัง โดยกวาดเฉพาะด้านหน้า
เพียงคนเดียว เพื่อนๆในโรงเรียน กลับกันเกือบหมดแล้ว ยังเหลือผมที่ยัง
ต้องกวาดอาคารเรียนอยู่คนเดียว ผมกวาดไปและตั้งคำถามภายในใจไป
ว่าอาจารย์ทำไมต้องให้ผมกวาด แต่ผมก็หาคำตอบไม่ได้ จนมาถึงวันนี้

ท่านทำให้ผมจำตัวท่าน ที่เป็นแบบอย่างดีๆในหลายๆด้านให้ได้นั่นเอง

อาจารย์ชื่อ อาจารย์ สุรพงษ์ คำศรี

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published.

Time limit is exhausted. Please reload CAPTCHA.